บริการของเรา

พรพรรณ แก้วสาร (เกศ)


คดีอาญาคืออะไร

คดีอาญา คือ คดีที่ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นกำหนดว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ (ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ริบทรัพย์ ปรับ) อัตราโทษของความผิดแต่ละฐานขึ้นกับการกระทำความผิด รวมถึงความประสงค์ของกฎหมาย

ตัวอย่างคดีอาญา

ติดสินบนเจ้าพนักงาน, แจ้งความเท็จ, เบิกความเท็จ, ฟ้องเท็จ, วางเพลิงเผาทรัพย์, ปลอมเอกสาร, ใช้เอกสารปลอม, ปลอมบัตรเครดิต, ใช้บัตรเครดิตของผู้อื่นโดยไม่ชอบ, ปลอมพาสพอร์ต, ใช้พาสพอร์ตปลอม, อนาจาร, ข่มขืน, ฆ่า, ทำร้ายร่างกาย, ข่มขู่, หน่วงเหนี่ยวกักขัง, เรียกค่าไถ่, พรากผู้เยาว์, หมิ่นประมาท, ขโมยของ, หลอกลวง, โกงเจ้าหนี้, ยักยอกทรัพย์, รับของโจร, ทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุก

ขั้นตอนคดีอาญา

การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเองหรือให้อัยการฟ้องคดีก็ได้ ในกรณีผู้เสียหายจะให้อัยการฟ้องคดี ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจเสียก่อน เนื่องจากคดีอาญากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของท่านโดยตรง ท่านสามารถแต่งตั้งทนายความเข้ามาเพื่อช่วยรักษาสิทธิของท่าน ไม่ว่าท่านอยู่ในฐานะผู้เสียหาย ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย


กรณีที่ท่านเป็นโจทก์ผู้เสียหายและใช้สิทธิฟ้องคดีเอง

  1. ผู้เสียหายรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องเท่าที่หาได้ เช่น ภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ, ภาพจากกล้องวงจรปิด, ภาพถ่ายบาดแผล, ใบรับรองแพทย์ (ถ้าเป็นความผิดที่เกี่ยวกับเนื้อตัว ร่างกาย), และเอกสารแสดงสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่มีเอกสารประกอบ)
  2. ทนายความสอบถามข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจสอบและค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม (ถ้ามี) เพื่อประกอบการยื่นฟ้องคดีต่อศาลและเตรียมแนวทางต่อสู้คดี
  3. ยื่นฟ้องคดีอาญา
  4. ศาลพิจารณาไปตามรูปคดี
  5. พิพากษาไปตามรูปคดี

 

กรณีที่ท่านเป็นผู้เสียหายและให้ภาครัฐดำเนินคดีแทน

การที่ผู้เสียหายให้ภาครัฐดำเนินคดีแทนตน ก็ยังไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะแต่งตั้งทนายความเพื่อเข้ามาช่วยเหลือและดูแลให้มั่นใจว่าระหว่างการดำเนินคดี สิทธิของผู้เสียหายเป็นไปตามที่กฎหมายคุ้มครอง

  1. ผู้เสียหายรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องเท่าที่หาได้ เช่น ภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ, ภาพจากกล้องวงจรปิด, ภาพถ่ายบาดแผล, ใบรับรองแพทย์ (ถ้าเป็นความผิดที่เกี่ยวกับเนื้อตัว ร่างกาย),  และเอกสารแสดงสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่มีเอกสารประกอบ)
  2. ไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ข้อควรทราบคือการลงบันทึกประจำวัน เป็นการแจ้งให้ตำรวจบันทึกไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น หากผู้เสียหายต้องการให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษตามกฎหมาย ควรแจ้งกับตำรวจว่าประสงค์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

  3. ตำรวจสอบสวนคดี สอบปากคำผู้เสียหาย พยานที่เห็นเหตุการณ์ รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และส่งสำนวนพร้อมความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ ให้แก่อัยการ

  4. ถ้าอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ก็จะนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ถ้าอัยการไม่สั่งฟ้อง เช่นนี้ผู้เสียหายยังมีสิทธินำคดีไปฟ้องศาลเอง

  5. เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ศาลพิจารณาและพิพากษาไปตามรูปคดี

กรณีที่ท่านตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นตำรวจหรือชั้นอัยการ

  1. ทนายความสอบถามข้อเท็จจริงและเหตุการณ์
  2. รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
  3. ทนายความให้คำปรึกษาและร่วมฟังการสอบปากคำ ทนายจะดูแลให้การดำเนินคดีเป็นไปตามกฎหมายและดูแลให้ท่านได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ยื่นขอประกันตัว

 

ชั้นศาล

  1. ทนายความสอบถามข้อเท็จจริงและเหตุการณ์
  2. เตรียมแนวทางต่อสู้คดีและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
  3. ยื่นคำให้การ ทนายจะดูแลให้การดำเนินคดีเป็นไปตามกฎหมาย และดูแลให้ท่านได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สิทธิขอประกันตัว
  4. ศาลพิจารณาและพิพากษาไปตามรูปคดี